logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : มะเร็งเม็ดเลือดขาว / ลูคีเมีย

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia/ ลูคีเมีย) คือ โรคมะเร็งของไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อในระบบโรคเลือด เกิดจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวในปริมาณผิดปกติ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่การศึกษาระบุว่า น่าจะมาจากหลายสาเหตุร่วมกันโดยเฉพาะการมีปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยกับพันธุกรรมของผู้ป่วย มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลากหลายชนิดย่อย แต่แบ่งได้เป็น 2 ชนิด/กลุ่มหลัก คือ

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ‘ลิมโฟซิติก (Lymphocytic leukemia)’ ที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte  
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ‘มัยอีโลจีนัส (Myelogenous leukemia)’ ที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่ไม่ใช่ Lymphocyte ที่เรียกรวมว่า Myeloid เช่น Granulocyte และ Monocyte

นอกจากนี้ยังแบ่งย่อยเป็นชนิดเฉียบพลัน (Acute) และชนิดเรื้อรัง (Chronic) โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่พบบ่อย คือ

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (ALL; Acute Lymphoblastic Leukemia) ซึ่งเป็นมะเร็งพบบ่อยที่สุดของเด็กไทยและเด็กทั่วโลก พบน้อยในผู้ใหญ่ เป็นมะเร็งชนิดเฉียบพลัน โดยเป็นมะเร็งของเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (AML, Acute Myelocytic Leukemia หรือ Acute Myelogenous Leukemia หรือ Acute Myeloid Leukemia หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia/ANLL/เอเอ็นแอลแอล) เป็นมะเร็งชนิดเฉียบพลันเช่นกัน พบน้อยกว่าชนิด ALL มาก โดยเป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาวชนิด Myeloid
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (CML, Chronic Myelogenous Leukemia) เป็นมะเร็งชนิดเรื้อรังของเม็ดเลือดขาวชนิด Myeloid

ซึ่งทั้งสองชนิดหลัง พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก และเป็นชนิดที่พบได้เรื่อยๆ ไม่บ่อยเท่าชนิดเอแอลแอลในเด็ก

  • เมื่อมีเม็ดเลือดขาวปกติลดลง/ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงติดเชื้อได้ง่าย มักมีไข้สูง เป็นๆ หายๆ บ่อยกว่าคนทั่วไป เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันป้องกันโรค
  • เมื่อมีเม็ดเลือดแดงลดลง จึงเกิดภาวะซีด ทำให้เหนื่อยง่าย อาจบวมหน้าหรือเท้า และเมื่อซีดมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • เมื่อมีเกล็ดเลือดลดลง จึงมีเลือดออกง่าย เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยป้องกันเลือดออกและช่วยให้เลือดหยุดได้ง่ายเมื่อมีเลือดออก เช่น เลือดออกบ่อยขณะแปรงฟัน มีเลือดกำเดาบ่อยผิดปกติ มีห้อเลือดง่าย และมีจุดเลือดออกกระจายตามตัวเล็กๆ แดงๆ คล้ายจุดที่เกิดในไข้เลือดออก
  • ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • รังสีรักษา: ผลขางเคียงที่พบได้ เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสีและต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี ซึ่งในโรคนี้มักเป็นการฉายรังสีในบริเวณสมองเพื่อป้องกันการเกิดโรคแพร่กระจายสู่สมอง
  • ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆ ติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อที่รุนแรง การที่ร่างกายปฏิเสธไขกระดูกผู้อื่น/ปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่